Friday, March 25, 2016

ค้นพบหลักฐานโบราณ ธรรมกายคือกายแห่งญาณรู้แจ้ง



ค้นพบหลักฐานโบราณ ธรรมกายคือกายแห่งญาณรู้แจ้ง มาจาก คัมภีร์ “ธัมมกายาทิ” ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นพระไตรปิฎก ที่ทำการสังคายนาช่วงต้นรัชกาลที่ 1 ฉบับจริงอยู่วัดพระแก้ว และคัมภีร์ธัมมกายาทินี้ ก็มีอยู่ในพระไตรปิฎกฉบับเทพชุมนุม สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดถึง 331มัด ฉบับจริงอยู่วัดโพธิ์ คัมภีร์ธัมมกายาทินี้ เป็น 1มัด ใน 331มัดชุดนี้

คัมภีร์ “ธัมมกายาทิ” 1มัดนี้ มีใบลานอยู่ 16หน้า บางท่านอาจจะแย้งว่า มันคงไม่สำคัญ แต่เรื่องนี้ มีข้อที่ควรคำนึงว่า เป็นคาถาเดียวกับคาถาธรรมกายที่พบจารึกบนลานเงินประกับทอง ที่บรรจุอยู่ในส่วนคอระฆังของพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี หรือวัดโพธิ์ มารู้เห็นเรื่องนี้ก็เพราะ ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์ ประจำ 4รัชกาล เมื่อปี พ.ศ. 2531-2532 จึงเป็นการตอบข้อสงสัยได้เป็นอย่างดีว่า คาถาธรรมกายในคัมภีร์ “ธัมมกายาทิ” นี้ สำคัญอย่างไร

คัมภีร์ “ธัมมกายาทิ” มีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้
ใบลานหน้าที่ 1 และหน้าที่ 2 ว่าด้วย คาถาธรรมกาย เช่น
1. สพฺพญฺญุตญาณปวรสิสํ ...
2. โยคาวจร ผู้ปรารถนา สัพพัญญุตญาณ พึงระลึกถึง พระธรรมกายเนืองๆ

ใบลานหน้าที่ 3 ถึงหน้าที่ 16 รวม 14 หน้าลาน ประกอบด้วย
1. เรื่อง “สัพพัญญุตญาณ” ได้อธิบายรายละเอียดของญาณต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นองค์พระธรรมกาย เช่น สัพพัญญุตญาณ เป็นส่วนพระเศียร, ธรรมจักษุ ทิพพจักษุ ปัญญาจักษุ สมันตจักษุ และพุทธจักษุ เป็นส่วนพระเนตร, ทิพยโสตญาณ เป็นส่วนพระโสต, โคตรภูญาณ เป็นส่วนพระนาสิก (จมูก) ขององค์พระธรรมกาย เป็นตัน ทำให้เราทราบว่า พระธรรมกาย ประกอบขึ้นด้วยญาณแห่งการรู้แจ้ง เป็นจำนวนมาก
2. เรื่อง “อุณหิสวิชัย” เป็นภาคผนวก ว่าด้วย ปัญญาธิกะ และ ศรัทธาธิกะ (ส่วนนี้เป็นเรื่องอื่น ไม่เกี่ยวข้องกับความหมายของคำว่า ธรรมกาย)

กล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับคัมภีร์ “ธัมมกายาทิ” ว่าด้วย ธรรมกาย ดังนี้
1. จักขุของพระธรรมกาย ในคัมภีร์ธัมมกายาธิ พระธรรมกายมีจักขุที่ประกอบด้วย 1.ธรรมจักขุ 2.ทิพพจักขุ 3.ปัญญาจักขุ 4.สมันตจักขุ 5.พุทธจักขุ ส่วนในพระบาลีขุทกนิกายกล่าวถึงจักขุ 5 ประการของพระพุทธเจ้า (กายเนื้อ) ได้แก่ 1.มังสจักขุ (ตาเนื้อ) 2.ทิพพจักขุ 3.ปัญญาจักขุ 4.สมันตจักขุ 5.พุทธจักขุ (Nd2 235. ขุ.ม.29/51/5) การที่มังสจักขุไม่ปรากฏในธรรมกายแสดงให้เห็นว่าธรรมกาย ซึ่งเป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า (อังกา ก 2 บรรทัดที่ 2.1) แตกต่างจากรูปกายของพระพุทธเจ้าที่เป็นกายเนื้อ และการมีธรรมจักขุ จึงแสดงความเป็นธรรมกายอย่างมีนัยสําคัญ กล่าวคือพระบาลีแจกแจงคุณสมบัติเฉพาะในรูปกายที่เป็นกายเนื้อของพระพุทธเจ้า แต่คัมภีร์นี้แสดงคุณสมบัติธรรมกายของพระพุทธเจ้า
2. ตามคัมภีร์นี้ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ธรรมกาย คือกายแห่งญาณรู้แจ้ง” ผู้ปรารถนา สัพพัญญุตญาณ พึงระลึกถึง พระธรรมกายอยู่เนืองๆ เพื่อจะได้รู้แจ้งยิ่งๆ ขึ้นไป จนมีสัพพัญญุตญาณ

ตามหลักฐานโบราณดังกล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่พระผู้ปฏิบัติปฏิบัติชอบ ท่านสอนไว้ ดังนี้
1. พระอริคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) พระเกจิสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เคยกล่าวเกี่ยวกับ พระธรรมกาย ใว้ในหนังสือ ทิพยอำนาจดังนี้ พระธรรมกาย ได้แก่ พระกายอันบริสุทธิ์ ไม่สาธารณะทั่วไปแก่เทวดาและมนุษย์ หมายถึง พระจิตที่พ้นจากอาสวะแล้ว เป็นพระจิตที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง มีพระรัศมีแจ่มจ้า เปรียบเหมือนดวงอาทิตย์อุทัยไขแสง ในนภากาศฉะนั้น พระธรรมกายนี้ เป็นพระพุทธเจ้าที่จริงแท้ เป็นพระกายที่พ้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย และทุกข์โศกทั้งหลายได้จริง เป็นพระกายที่เที่ยงแท้ ถาวรไม่สูญสลาย เป็นอยู่ชั่วนิรันดร์ เป็นที่รวมแห่งธรรมทั้งปวงท่านยังอธิบายต่อด้วยว่า “คือความเป็นพระอรหันต์ไม่สูญ ความเป็นพระอรหันต์นี้ ท่านจัดเป็นอินทรีย์ชนิดหนึ่ง เรียกว่า อัญญินทรีย์ เป็นสภาพที่คล้ายคลึง วิสุทธาพรหม ในสุทธาวาสชั้นสูง เป็นแต่บริสุทธิ์ยิ่งกว่าเท่านั้น เมื่อมีอินทรีย์อยู่ ก็ย่อมจะบำเพ็ญประโยชน์ได้ แต่ผู้จะรับประโยชน์จากท่านได้ ก็จะต้องมีอินทรีย์ผ่องแผ้วเพียงพอที่จะรับรู้รับเห็นได้ เพราะอินทรีย์ของพระอรหันต์ ประณีตสุขุมที่สุด เป็นอินทรีย์แก้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของท่านเป็นแก้ว คือใสบริสุทธิ์ดุจแก้วมณีโชติ ผู้บรรลุถึงภูมิแก้วแล้ว ย่อมสามารถพบเห็นพระแก้ว คือ พระอรหันต์ที่นิพพานแล้วได้แล้วท่านยังได้แนะนำต่อ ด้วยความเป็นห่วงใยว่า “ความรู้เรื่องนี้ เป็นความรู้ลับในธรรมวินัย ผู้สนใจพึงศึกษาค้นคว้าต่อไป ถ้ารู้ไม่ถึงอย่าพึงค้าน อย่าพึงอนุโมทนา เป็นแต่จดจำเอาใว้ เมื่อใดเหตุผลลงกันจึงอนุโมทนา ถ้ารู้ไม่ถึงแล้วด่วนวิพากษ์วิจารย์ ติเตียน จะเป็นไปเพื่อ บอดตาบอดญาณตัวเอง



2. ดังนั้น สิ่งที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่สด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้ค้นพบ “ธรรมกาย” กลับมาอีกครั้ง และได้สอนไว้ว่า ธรรมกาย คือกายแห่งการตรัสรู้ธรรม (กายแห่งญาณรู้แจ้ง เท่ากับ กายแห่งการตรัสรู้ธรรม) จึงเป็นเรื่องที่ยืนยันได้ว่าถูกต้อง ตรงตามคัมภีร์ธัมมกายาทิ นี้ และพระเดชพระคุณท่าน ยังได้สอนให้ผู้มีบุญในยุคนั้นได้รู้เห็นตาม จากการเข้าถึง พระธรรมกายเป็นจำนวนมาก และการที่คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นศิษย์เอกของหลวงปู่สดวัดปากน้ำฯ ได้นำเรื่อง “ธรรมกาย” มาถ่ายทอดต่อที่วัดพระธรรมกาย จนมีผู้เข้าถึงพระธรรมกาย เป็นจำนวนมาก จนถึงปัจจุบันมีพระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี หลวงพ่อธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นผู้สืบทอดวิชชาธรรมกาย จากคุณยายอาจารย์ฯ รับหน้าที่ต่อในการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย ไปทั่วโลก จึงถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เป็นฝ่ายเถรวาท และไม่ใช่ฝ่ายมหายานหรือเป็นลิทธิใหม่ตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด



3. พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี หลวงพ่อธัมมชโย วัดพระธรรมกาย ได้กล่าวไว้ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2547 ว่า ““พระธรรมกาย” เป็นกายตรัสรู้ธรรมภายใน หมายถึง พระพุทธเจ้าภายในตัวของเรา ที่ใช้คำนี้นำมาประดิษฐานเป็นชื่อของวัด เป็นชื่อของมูลนิธิ เพราะคำว่า “ธรรมกาย” แม้มีอยู่ในตัวคน แต่รู้ได้ยาก แล้วก็เกิดขึ้นได้ยากในโลก ก็อยากจะคงคำนี้เอาไว้ ป้าย “วัดพระธรรมกาย” หลวงพ่อจึงให้ตอกเสาเข็มลึกลงไป 21เมตร ความจริงแล้วป้ายไม่ได้หนักอะไร แต่วัตถุประสงค์เพื่อให้คำนี้อยู่นาน ๆ เผื่อโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญพังไปแล้ว แต่ป้ายยังอยู่ ใครผ่านไปผ่านมา เห็นป้าย “วัดพระธรรมกาย” จะได้เฉลียวใจว่า คำนี้มีความสำคัญอย่างไร จะได้เกิดการศึกษาเรียนรู้ที่มาที่ไปว่าเป็นอย่างไร”

ที่หลวงปู่สด วัดปากน้ำฯ ค้นพบว่า “ ธรรมกายคือกายแห่งการตรัสรู้ธรรม” จากการปฏิบัติธรรม ได้มาตรงกับคัมภีร์ “ธัมมกายาทิ” ที่ได้บันทึกไว้ก่อนหน้านั้นว่า  "ธรรมกายคือกายแห่งญาณรู้แจ้ง" แต่ไม่มีใครในยุคนั้นรู้จักและเอามาสอนให้เข้าถึงกันได้ เพราะถูกซ่อนไว้ในพระไตรปิฎกบาลีอักษรขอม ทั้ง 2 รัชกาลและถูกเก็บไว้อย่างดี จนยากที่จะอ่านรู้เรื่องและค้นหาเจอ และถึงแม้จะค้นหาเจอเรื่อง ธรรมกาย แต่ในคัมภีร์นี้ ก็ไม่ได้บอกถึงวิธีการเพื่อเข้าถึงพระธรรมกายว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร อย่างที่หลวงปู่สด วัดปากน้ำฯ ค้นพบ และสอนสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน หลวงปู่สด วัดปากน้ำฯ จึงเป็นมหาปูชนียาจารย์ ที่สำคัญอย่างยิ่งของโลกในยุคนี้ ที่สามารถนำธรรมกายกลับมา ให้ได้ศึกษาและปฏิบัติให้เข้าถึงกันอีกครั้ง เพื่อผู้ปรารถนา สัพพัญญุตญาณ จะได้ตรึกระลึกถึง พระธรรมกายอยู่เนืองๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เหนือสะดือ 2นิ้วมือ
มารู้เรื่องราวที่เป็นจริงขนาดนี้แล้ว จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่า ทำไมจึงไม่ทิ้งวัด เพราะคำว่า "ธรรมกาย" นี้เป็นของจริงแท้ และจะปรากฎให้ผู้ปฏิบัติตามได้รู้ได้เห็นจริง ตามที่หลวงปู่สด วัดปากน้ำฯ ท่านสอนไว้ ถ้าไม่เชื่อ ก็ลองลงมือปฏิบัติธรรมได้ ทุกวันอาทิตย์ ที่วัดพระธรรมกาย จะได้หายสงสัยด้วยตัวของท่านเองครับ

หมายเหตุ: พระไตรปิฎกฉบับรองทรง ร.1 และฉบับเทพชุมนุมเป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาประกอบด้วย พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และปกรณ์วิเสสต่างๆ ฯลฯ

pairojn
22 มิถุนายน 2559

อ้างอิง
1. ผลงานวิจัย ธรรมกายในคัมภีร์พระธัมมกายาทิ (ฉบับเทพชุมนุม)
http://diri-au.org/download/seminar-2014/dhammakayati.pdf
2. หนังสือทิพยอำนาจ หน้า 509-512 เรียบเรียงโดยพระอริคุณาธาร (เส็งปุสโส)
3. Facebook วัดพระธรรมกาย : ทำไม...ป้ายชื่อวัดพระธรรมกาย ต้องตอกเสาเข็มลึก ๒๑ เมตร
https://www.facebook.com/dhammakaya.net/photos/a.108136169295212.14803.105207996254696/262799733828854/